วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัสสการพราหมณ์ถูกโบย โกนศีรษะประจาน และถูกเนรเทศออกจากเมือง



ฉันทลักษณ์

               อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑





                “อินทรวิเชียรฉันท์” เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า “อินทรวิเชียรคาถา” เป็นติฏฐุภาฉันท์ ฯ “ติฏฐุภา” แปลว่า “ฉันท์ที่เบียดเบียนความไม่ไพเราะในฐานะ ๓ คือ ต้นบาท, กลางบาท และปลายบาท”  “อินทรวิเชียร” แปลว่า “คาถาที่เหมือนคทาเพชรของพระอินทร์ เพราะมีเสียงหนักในหนต้นตลอดหนปลาย” เป็นคาถา ๔ บาท ๆ ละ ๑๑ คำ มีสูตรว่า “อินฺทาทิกา ตา วชิรา ชคา โค” แปลความว่า “คาถาที่มี ต คณะ ต คณะ ช คณะ และครุลอย ๒ ชื่อว่า “อินทรวิเชียร
                ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค เพราะมีบาทละ ๑๑ คำ จึงเรียกว่า “ฉันท์ ๑๑” แล้วเพิ่มสัมผัสเข้า คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป

บทประพันธ์
                                                 ควรเพื่อจะสมเพช                    ภยเวทนาการ
                                   ด้วยท่านพฤฒาจารย์                               พะกระทบประสบทัณฑ์
                                                  โดยเต็มกตัญญู                        กตเวทิตาครัน
                                  ใหญ่ยิ่งและยากอัน                                  นรอื่นจะอาจทน

ถอดความได้ว่า

น่าสมเพชวัสสการพราหมณ์ต้องได้รับทุกขเวทนา  ด้วยความกตัญญูกตเวทีอันยิ่งใหญ่ และยากที่จะมีบุคคลใดทนได้

โวหารภาพพจน์ :    เทศนาโวหาร
******************************
                                                      
                                                  หยั่งชอบนิยมเชื่อ                    สละเนื้อและเลือดตน
                                   ยอมรับทุเรศผล                                       ขรการณ์พะพานกาย
                                                 ไป่เห็นกะเจ็บแสบ                    ชิวแทบจะทำลาย
                                 มอบสัตย์สมรรถหมาย                             มนมั่นมิหวั่นไหว

ถอดความได้ว่า

เพื่อทดลองความคิด  โดยยอมสละเนื้อและเลือดของตนเองยอมรับผลอันน่าเวทนาและเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับตนเอง  แม้ชีวิตแทบสูญสิ้นก็ไม่เห็นจะเจ็บแสบแต่อย่างใด  เพราะมั่นใจในความซื่อสัตย์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

โวหารภาพพจน์ :     สาธกโวหาร
******************************

                                                      หวังแผน ณ แผ่นดิน                ผิถวิลสะดวกใด
                                      เกื้อกิจสฤษฎ์ไป                                       บิมิเลี่ยงละเบี่ยงเบือน
                                                      ยากที่จะมีใคร                          หฤทัยประทักษ์หมือน
                                      กัดฟันบฟั่นเฟือน                                     สติอดสะกดเอา

ถอดความได้ว่า

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะดำเนินแผนการของแผ่นดินโดยความสะดวกวิธีใด  ก็ปฏิบัติสนองไปตามพระราชประสงค์โดยมิได้หลีกเลี่ยงและบิดเบือน  ยากจะมีผู้ใดมีจิตใจเข้มแข็ง กัดฟันทน ตั้งสติมั่นคงเช่นนี้

โวหารภาพพจน์ :    พรรณนาโวหาร
******************************

                พวกราชมัลโดย                       พลโบยมิใช่เบา
  สุดหัตถแห่งเขา                                         ขณะหวดสิพึงกลัว
                บงเนื้อก็เนื้อเต้น                      พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว                                        ก็ระริกระริวไหว

ถอดความได้ว่า

เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ลงโทษโบยอย่างหนัก  หวดลงไปจนสุดแรงดูน่าเกรงกลัว  มองดูเห็นเนื้อเต้นระริก เส้นเอ็นสั่นรัวไปทั่วทั้งร่างกาย 

โวหารภาพพจน์ :    บรรยายโวหาร
******************************

                                                         แลหลังละลามโล                      หิตโอ้เลอะหลั่งไป
                                           เพ่งผาดอนาถใจ                                      ระกะร่อยเพราะรอยวาย
                                                         เนื่องนับอเนกแนว                     ระยะแถวตลอดลาย
                                         เฆี่ยนครบสยบกาย                                    สิรพับพะกับคา

ถอดความได้ว่า

มองดูที่แผ่นหลังเลือดไหลเปรอะไปหมด แผลแตกเป็นริ้วรอยดูน่าอนาถใจ  รอยแผลนั้นนับไม่ถ้วนเต็มไปหมดทั้งตัว  ครั้นเฆี่ยนครบก็หมดสติ คอพับอยู่กับคา 

โวหารภาพพจน์ :     บรรยายโวหาร
******************************

                 หมู่ญาติอมาตย์มิต                    รสนิทและเสนา
สังเวชณเหตุสา                                         หสล้วนสลดใจ
           สุดที่จะกลั้นโท                           มนโศกอาลัย
  ถ้วนหน้ามิว่าใคร                                      ขณะเห็นบเว้นคน

ถอดความได้ว่า

ญาติสนิทมิตรสหายและทหารพากันสลดใจในเหตุร้าย  ไม่สามารถกลั้นความเศร้าโศกเสียใจได้  ทุกคนไม่ว่าใครเมื่อได้มองเห็นไม่เว้นสักคนเดียว  

โวหารภาพพจน์ :      พรรณนาโวหาร , สาธกโวหาร
******************************
                 
แก้ไขและได้คืน                         สติฟื้นประทังตน
จึ่งราชบุรุษกล                                           บกกรก็โกนหัว
                      เสื่อมสีสะผมเผ้า                          สิริเปล่าประจานตัว
     เป็นเยี่ยงประหยัดกลัว                                 ผิมลักจะหลาบจำ

ถอดความได้ว่า

                เมื่อแก้ไขจนฟื้นคืนสติแล้ว  ช่างตัดผมก็โกนหัว   เป็นที่เสื่อมเสียศีรษะและเผ้าผม  ความเป็นมงคลก็หมดไป  เป็นการประจานตัวเอง  เป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดความเกรงกลัว

โวหารภาพพจน์ :     สาธกโวหาร
******************************

                                                        เสร็จกิจประการกัล                    ปนพลันประกาศทำ
                                         บัพพาชนีย์กรรม                                       ดุจราชโองการ
                                                        แน่นหน้ามหาชน                       ขณะยลทิชาจารย์
                                        แสนสุดจะสงสาร                                      สรศัพท์ประสาสันทน์

ถอดความได้ว่า

ถ้าใครได้เห็นก็จะเกิดความขยาดและจำไว้  เมื่อเสร็จกิจการโกนผมก็ประกาศขับไล่ตามพระราชโองการ   มหาชนมากมายพากันมาดูพราหมณ์เฒ่าด้วยความสงสาร  ต่างพากันพูดจาเซ็งแซ่ 

โวหารภาพพจน์ :   สาธกโวหาร , พรรณนาโวหาร
******************************

                                                      บางคนกมลอ่อน                        อุระข้อนพิไรพรรณน์
                                       บางพวกพิสัยฉัน                                       กุธเกลียดก็เสียดสี
                                                       บางเหล่าก็เป็นกลาง                 พิเคราะห์ข้างพิจารณ์ดี
                                       บางหมู่กรุณมี                                           ณหทัยก็ให้ของ

ถอดความได้ว่า

บางคนจิตใจอ่อนไหวก็ร้องไห้คร่ำครวญ  บางคนมีใจโกรธแค้นก็ด่าเสียดสี  บางคนมีใจเป็นกลางก็มองในด้านดี  ส่วนคนที่มีใจเมตตากรุณาก็ให้สิ่งของ

โวหารภาพพจน์ :   พรรณนาโวหาร
******************************

                                                       พราหมณ์วัสสการเส                กลเล่ห์และทำนอง
                                        ท่าทางละอย่างผอง                                  นรสิ้นบสงสัย
                                                       ปลงอาตม์นิราศรา                    ชคฤห์ฐานมุ่งไป
                                        สู่เทศสถานไกล                                        บุรรัฐวัชชี

ถอดความได้ว่า

วัสสการพราหมณ์แกล้งทำตามกลอุบาย  ท่าทางแต่ละอย่าง  จนคนทั้งหลายไม่สงสัยเลย  แล้วก็ตกลงใจเดินทางจากราชคฤห์มุ่งตรงไปยังแคว้นวัชชี

โวหารภาพพจน์ :     บรรยายโวหาร
******************************

1 ความคิดเห็น: