วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชดำริจะทำลายแคว้นวัชชีจึงทรงวางแผนกับวัสสการพราหมณ์เพื่อทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี



ฉันทลักษณ์
กาพย์ฉบัง ๑๖



ลักษณะของกาพย์ฉบัง๑๖
กาพย์ฉบังบทหนึ่งมีเพียง ๑ บาท แต่มี ๓ วรรค คือ วรรคต้น วรรคกลาง และวรรคท้าย 
พยางค์ พยางค์หรือคำในวรรคต้นมี ๖ คำ วรรคกลางมี ๔ คำ วรรคท้ายมี ๖ คำ รวมทั้งบทมี ๑๖ คำ จึงเขียนเลข ๑๖ ไว้หลังกาพย์ฉบัง
สัมผัส มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสัมผัสของกาพย์ฉบังดังนี้
ก. สัมผัสนอก (บังคับ) โปรดสังเกตเส้นโยงสัมผัสประกอบ
๑) ในบทที่ ๑ คำสุดท้ายของวรรคต้นสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคกลาง (บูชา-มารดา)
๒) คำสุดท้ายของวรรคท้ายในบทที่ ๑สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคต้นในบทที่ ๒ (ตน-กมล)
และในบทต่อ ๆ ไปก็มีสัมผัสทำนองเดียวกับข้อ ๑ และ ข้อ ๒
ข. สัมผัสใน (ไม่บังคับ)
๓) สัมผัสในชนิดสัมผัสสระ มีในบทที่ ๑วรรคท้าย คือ กำเนิด-เกิด ในบทที่ ๒ วรรคท้ายคือ มหา-สาครินทร์ ในบทที่ ๔ วรรคท้าย คือวิชา-อาทร ภาษา-จริยา-สง่าศรี
๔) สัมผัสในชนิดสัมผัสอักษร มีดังนี้
บทที่ ๑ ข้า-ขอ บิดร-มารดา ก่อ-กำเนิด-เกิด
บทที่ ๒ กตัญญู-ยึด มั่น-กมล
บทที่ ๓ ข้า-ขอ-คุณ สั่ง-สอน
บทที่ ๔ ถ่าย-ทอด-อาทร ภาษา-สง่าศรี

บทประพันธ์
                                     อันอัครปุโรหิตาจารย์                   พราหมณ์นามวัสสการ
                           ฉลาดฉลียวเชี่ยวชิน
                                      กลเวทโกวิทจิตจินต์                    สำแดงแจ้งศิล
                            ปศาสตร์ก็จบสบสรรพ์

ถอดความได้ว่า

            พราหมณ์ผู้สั่งสอนและปรึกษาในทางขนบธรรมเนียมประเพณีมีนามว่าวัสสการพราหมณ์  มีความเฉลียวฉลาดและเชี่ยวชาญ  เป็นผู้ชำนาญทางอุบายความรู้ในพระเวท  มีความคิดหลักแหลม  ทั้งศิลปศาสตร์ทุกแขนงก็ร่ำเรียนจนจบสิ้น 

โวหารภาพพจน์ :  บรรยายโวหาร,พรรณนาโวหาร
******************************

                                              เป็นมหาอำมาตย์ราชวัล               ลภใครไป่ทัน
                                 ไป่เทียมไป่เทียบเปรียบปาน
                                              สมัยหนึ่งจึ่งพระภูมิบาล               ทรงจินตนาการ
                                  จะแผ่อำนาจอาณา

ถอดความได้ว่า
เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน    ครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงคิดจะขยายอาณาเขต
โวหารภาพพจน์ :   อุปมาโวหาร , บรรยายโวหาร
******************************


                                         ให้ราบปราบเพื่อเกื้อปรา              กฎไผทไพศา
                            ลรัฐจังหวัดวัชชี
                                         หวังพระหฤทัยใคร่กรี                  ธาทัพโยธี
                            กระทำประยุทธ์ชิงชัย


ถอดความได้ว่า
ให้กว้างใหญ่ไพศาลไปจนถึงแคว้นวัชชีตั้งพระราชหฤทัยจะยกกองทัพไปทำสงคราม 
โวหารภาพพจน์ :  บรรยายโวหาร
******************************

                                             ครั้นทรงดำริตริไป                      กลับยั้งหยั่งใน
                               มนัสมิแน่แปรเกรง
                                            หากหักจักได้ชัยเชวง                  ฤาแพ้แลเลง
                              พะว้าพะวังลังเล

ถอดความได้ว่า
แต่เมื่อคิดทบทวนแล้วกลับหยุดยั้งความคิด  ด้วยเกรงความไม่แน่นอน  หากได้ชัยชนะก็เป็นที่เลื่องลือ  แต่ถ้าพ่ายแพ้ก็จะถูกดูแคลนทำให้พระองค์ทรงลังเลพระราชหฤทัย 
โวหารภาพพจน์ :  พรรณนาโวหาร
******************************


     
                                 ไป่อาจสามารถทุ่มเท                   ทำศึกรวนเร
                           พระราชหฤทัยใช่เบา
                                         ด้วยเหตุพระองค์ทรงเสา              วนศัพท์สำเนา
                           ระเบ็งระบือลือชา

ถอดความได้ว่า

เนื่องจากไม่สามารถทุ่มเททำสงครามโดยไม่ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน  เพราะพระองค์ทรงทราบข่าวที่เล่าลือกันทั่วไป

โวหารภาพพจน์ :  บรรยายโวหาร
******************************

                                              ว่ากษัตริย์วัชชีบรรดา                  บดีสีมา
                                    เกษตรประเทศทุกองค์
                                               อปริหานิยธรรมธำรง                   ทั้งนั้นมั่นคง
                                    มิโกรธมิก้าวร้าวฉาน

ถอดความได้ว่า

ว่าบรรดากษัตริย์แคว้นวัชชีทั้งหลายนั้นตั้งมั่นในธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม  ไม่โกรธและไม่แตกร้าวกัน

โวหารภาพพจน์ :   บรรยายโวหาร
******************************
                                          
                                          เพื่อธรรมดำเนินเจริญการณ์          ใช่เหตุแห่งหานิย์
                               เจ็ดข้อจะคัดจัดไข
                                         หนึ่ง. เมื่อมีราชกิจใด                    ปรึกษากันไป
                              บ่วายบ่หน่ายชุมนุม

ถอดความได้ว่า

          เป็นธรรมที่ทำให้เจริญก้าวหน้าไม่ใช่เหตุแห่งความเสื่อม  มี ๗ ประการดังต่อไปนี้ 
ข้อหนึ่งเมื่อมีราชกิจใดก็ปรึกษากันไม่งดเว้นและเบื่อหน่ายที่จะเข้าร่วมประชุม

โวหารภาพพจน์ :  บรรยายโวหาร , เทศนาโวหาร
******************************

                                           สอง. ย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม      พร้อมพรักพรรคคุม
                               ประกอบ ณ กิจควรทำ
                                           สาม. นั้นยึดมั่นในสัม                         มาจารีตจำ
                               ประพฤติมิตัดดัดแปลง

ถอดความได้ว่า

ข้อสองเข้าประชุมและเลิกประชุมพร้อมกัน  และพร้อมเพรียงกันประกอบกิจอันสมควร
ข้อสามยึดมั่นในความประพฤติอันถูกต้องตามแบบแผน

โวหารภาพพจน์ :  ทศนาโวหาร
******************************



                                             สี่. ใครเป็นใหญ่ได้แจง                  โอวาทศาสน์แสดง
                                    ก็ยอมและน้อมบูชา
                                               ห้า. นั้นอันบุตรภริยา                      แห่งใครไป่ปรา
                                     รภประทุษข่มเหง

ถอดความได้ว่า

ข้อสี่เชื่อฟังและปฏิบัติตามโอวาทผู้ใหญ่
ข้อห้าไม่ล่วงเกินบุตรภรรยาผู้อื่น

โวหารภาพพจน์ :      เทศนาโวหาร
******************************

                                                     หก ที่เจดีย์คนเกรง                      มิย่ำยำเยง
                                          ก็เซ่นก็สรวงบวงพลี
                                                     เจ็ด พระอรหันต์อันมี                   ในรัฐวัชชี
                                          ก็คุ้มก็ครองป้องกัน

ถอดความได้ว่า

ข้อหกเคารพในสถานที่ที่ผู้อื่นยกย่องนับถือ
ข้อเจ็ดให้ความอุปการะคุ้มครองพระอรหันต์ที่อยู่ในแคว้นวัชชี

โวหารภาพพจน์ :     เทศนาโวหาร
******************************



                                               สัปดพิธนิติคตินิรันดร์                    สามัคคีธรรม์
                                    ณราชย์นริศลิจฉวี
                                               อชาตศัตรูภูมี                                  สดับสรรพคดี
                                    ดั่งนั้นก็ครั่นคร้ามขาม

ถอดความได้ว่า

แบบแผนทั้ง ๗ ประการนี้เป็นคติตลอดกาล  เป็นธรรมก่อให้เกิดความสามัคคีของกษัตริย์                      ลิจฉวี  พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทราบดังนั้นก็บังเกิดความเกรงขาม 

โวหารภาพพจน์ :     บรรยายโวหาร
******************************

                                                ศึกใหญ่ใคร่จะพยายาม                รบเร้าเอาตาม
                                   กำลังก็หนักนักหนา
                                              จำจักหักด้วยปัญญา                     รอก่อนผ่อนหา
                                 อุบายทำลายมูลความ

ถอดความได้ว่า

  ว่าศึกครั้งนี้เป็นศึกใหญ่หากจะเอาชนะด้วยกำลังคงจะเป็นการยาก  จะต้องเอาชนะด้วยปัญญา   รั้งรอไว้ก่อนเพื่อหากลอุบายทำลายความสามัคคีที่มีมาแต่ก่อน

โวหารภาพพจน์ :    บรรยายโวหาร


******************************

ฉันทลักษณ์

อุปชาติฉันท์๑๑
   


          
อุปชาติฉันท์ เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า อุปชาติคาถา มีสูตรว่า        
         อนนฺตโรทีริตลกฺขณา เจ
   ปาทา วิมิสฺสา อุปชาติโย ตา
เอวํ กิรญฺญาสุปิ มิสฺสิตาสุ
วทนฺติ ชาติสฺวิทเมว นามํ.
        ความว่า หากบาทคาถามีลักษณะดังกล่าวแล้ว ต่อเนื่องกันคือเป็นบาทที่ผสมกันในคาถาใด คาถานั้นชื่อว่าอุปชาติคาถา โดยหลักเกณฑ์ฉันท์นี้เป็นคาถาผสม ระหว่างอุเปนทรวิเชียรคาถากับอินทรวิเชียรคาถา โดยกำหนดบทหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๑๑ คำ บาทแรกเป็นอุเปนทรวิเชียรคาถา บาทที่สองเป็นอินทรวิเชียรคาถา ต้องรวม ๒ บท จึงเป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ของคาถานี้
        ในการบัญญัติอุปชาติฉันท์ไทยนั้น โดยนำเอาหลักเกณฑ์ของอุปชาติคาถามาเป็นหลัก ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดบทหนึ่งมี ๒ บาท ๆ ละ ๒ วรรค บาทหนึ่งมี  ๑๑ คำ รวมบทหนึ่งมี ๒๔ คำ ต้องรวม ๒ บท คือ ๔๘ คำ จึงเป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ โดยบาทแรกขึ้นด้วยอุเปนทรวิเชียร บาทที่ ๒ เป็นอินทรวิเชียร บาทที่ ๓ เป็นอินทรวิเชียร บาทที่ ๔ เป็นอุเปนทรวิเชียร บทต่อไปก็สลับกันอย่างนี้ จะแต่งต่อเท่าใดก็ได้แต่ต้องให้สลับกันไปอย่างนี้

บทประพันธ์
                                              บรมกษัตริย์ปรา                             รภการปราบปราม
                             กับวัสสการพราหมณ์                                      พฤฒิเอกอาจารย์
                                            ปรึกษาอุบายดำ                                ริกระทำไฉนการ
                              จะสมนิยมภาร                                               ธุระปรารถนาเรา

ถอดความได้ว่า

พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงปรึกษาหารือกับวัสสการพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์  หารือถึงกลอุบายว่าจะทำประการใดดีจึงจะทำให้ความปรารถนานั้นสัมฤทธิ์ผล 

โวหารภาพพจน์ :    รรยายโวหาร
******************************

                                                 สมัครสมานมิตร                             คณะลิจฉวีเขา
                                  มั่นคงจะคิดเอา                                               ชนะด้วยประการไร
                                                ท่านวัสสการผู้                                  ทิชครูฉลาดใน
                                  อุบายคะนึงไป                                                ก็ประจักษ์กระจ่างจินต์

ถอดความได้ว่า

ความสมัครสมานสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีนั้นมั่นคงยิ่งนัก  จะเอาชนะพวกเขาได้อย่างไร วัสสการพราหมณ์เป็นครูที่ฉลาดหลักแหลม  เมื่อใคร่ครวญไปก็คิดอุบายได้อย่างแจ่มแจ้ง

โวหารภาพพจน์ :      บรรยายโวหาร
******************************


                                              เสนอสนองมูล                                กลทูลณวาทิน
                               แต่องคภูมินทร์                                               ธอชาตศัตรู
                                              ตกลงและทรงนัด                            แนะกะวัสสการครู
                                ตริเพื่อเผด็จมู                                                 ลสมัครไมตรีฯ

ถอดความได้ว่า

                จึงกราบทูลเสนอพระเจ้าอชาตศัตรู  ซึ่งก็ทรงเห็นชอบและนัดแนะกับวัสสการพราหมณ์ในการทำลายล้างความสามัคคี

โวหารภาพพจน์ :      บรรยายโวหาร
ฯลฯ

******************************



ความเจริญรุ่งเรืองของแคว้นมคธและความเกรียงไกรของพระเจ้าอชาตศัตรู




ฉันทลักษณ์
                       วสันตดิลกฉันท์ ๑๔



วสันตดิลกฉันท์”  เป็นชื่อที่เรียกตามแบบไทย แต่ในคัมภีร์วุตโตทัย ท่านเรียกว่า วสันตดิลกคาถา เป็นสักกรีฉันท์ สักกรี” แปลว่า ฉันท์เป็นที่กระทำดีด้วยคณะ ลหุ ครุ และยติ”  วสันตดิลก” แปลว่า คาถาที่มีคณะวิจิตรเหมือนเมฆในวสันตฤดู”  เป็นคาถา ๔ บาท ๆ ละ ๑๔ คำ   มีสูตรว่า วุตฺตา วสนฺตติลกา ตภชา ชคา โคแปลว่า คาถาที่มี    คณะ ภ คณะ ช คณะ ช คณะ และครุลอย  ๒ ท่านกล่าวว่า วสันตดิลกคาถา

              ในการบัญญัติฉันท์ไทยนั้น ท่านนำสูตรดังกล่าวมาเป็นสูตร โดยกำหนดนำมาเพียง ๒ บาท แล้วปรับปรุงให้เป็น ๔ วรรค มีบาทละ ๑๔ คำ เพราะมีบาทละ ๑๔ คำ จึงเรียกว่า ฉันท์ ๑๔” เมื่อปรับปรุงแล้ว เพิ่มสัมผัสเข้า คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓, และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ส่งสัมผัสไปยังคำที่พร้อมจะรับในบทที่จะแต่งต่อไป

บทประพันธ์

                                       โบราณกาลบรมขัต                             ติยรัฐเกรียงไกร
                             ท้าวทรงพระนามอภิไธ                                 ยอชาตศัตรู
                                         ครองเขตมเหศวรเอก                         อภิเษกประสิทธิ์ภู
                              อาณาปวัตน์ลุบริบู                                        รณบรรพ์ประเพณี

ถอดความได้ว่า

              ในสมัยโบราณนั้นมีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงพระนามว่าพระเจ้าอชาตศัตรู  พระองค์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ทรงทำพิธีอภิเษกขึ้นครองราชสมบัติปกครองแผ่นดินตามพระราชประเพณี 

โวหารภาพพจน์ :   พรรณนาโวหาร
******************************

                                            แว่นแคว้นมคธนครรา                         ชคฤห์ฐานบุรี
                                  สืบราชวัตวิททวี                                            ทศธรรมจรรยา
                                              เลื่องหล้ามหาอุดมลาภ                       คุณภาพพระเมตตา
                                   แผ่เพียงชนกกรุณอา                                      ทรบุตรธิดา ตน  
ถอดความได้ว่า

ทรงบำเพ็ญพระราชจริยวัตรต่าง ๆ  ณ กรุงราชคฤห์อันเป็นนครหลวงแห่งแคว้นมคธ  และทรงเพิ่มพูนทศพิธราชธรรมเสมอมา  ทรงก่อให้เกิดลาภอันใหญ่ยิ่งทั่วแผ่นดิน  ทรงมีพระเมตตาแก่พสกนิกรประดุจทรงเอื้อเฟื้อแก่พระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์เอง

โวหารภาพพจน์ :  พรรณนาโวหาร
******************************


   
   โปร่งปรีดิปราศอริริปู                           ภพภูมิมณฑล
                                        เปรมโสตถิภาพพิพิธผล                               สุขภัทรนานา
                                                อำพนพระมนทิรพระราช                    สุนิวาสน์วโรฬาร์
                                        อัพภันตรไพจิตรและพา                              หิรภาคก็พึงชม

ถอดความได้ว่า

บ้านเมืองมีแต่ความน่ายินดีปราศจากข้าศึกศัตรู  มีความสุขสวัสดีและเจริญรุ่งเรืองด้วยสิ่งต่างๆและ พระราชมนเทียรก็มีความสวยงามมาก  สภาพกว้างขวาง  ทั้งภายในก็งดงาม  ภายนอกนั้นก็น่าชื่นชม

โวหารภาพพจน์ :  พรรณนาโวหาร
******************************

         เล่ห์เลื่อนชะลอดุสิตฐา                        นมหาพิมานรมย์
    มารังสฤษฎ์พิศนิยม                                       ผิจะเทียบก็เทียมทัน
             สามยอดตลอดระยะระยับ                   วะวะวับสลับพรรณ
                                    ช่อฟ้าตระการกลจะหยัน                               จะเยาะยั่วทิฆัมพร

ถอดความได้ว่า

                มองดูแล้วหากจะเทียบก็เสมือนหนึ่งจะชะลอเลื่อนเอาวิมานชั้นดุสิตอันรื่นรมย์มาสร้างไว้  ปราสาทตลอดทั้งสามยอดงามแพรวพราวสลับสี  ช่อฟ้าก็งามราวกับจะเย้ยท้องฟ้า

โวหารภาพพจน์ :  อุปมา , บุคคลวัต
******************************

      
                                    บราลีพิลาศศุภจรูญ                            นภศูลประภัสสร
                           หางหงส์ผจงพิจิตรงอน                               ดุจกวักนภาลัย
                                  รอบด้านตระหง่านจตุรมุข                   พิศสุกอร่ามใส
                            กาญจน์แกมมณีกนกไพ                             ฑุรย์พร่างพะแพรวพราย

ถอดความได้ว่า

ส่วนบราลีช่างงดงามยิ่ง  นภศูลก็มีสีเลื่อมพราย ส่วนบราลีช่างงดงามยิ่ง  นภศูลก็มีสีเลื่อมพราย  หางหงส์ประดิษฐ์ไว้งามอ่อนช้อยประหนึ่งจะกวักเรียกท้องฟ้า  รอบมุขทั้งสี่ด้านก็สุกสกาวอร่ามเรืองไปด้วยแก้วมณีและไพฑูรย์

โวหารภาพพจน์ :  อุปมา , บุคคลวัต
ฯลฯ
******************************