วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ลักษณะคำประพันธ์

                

                คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์และกาพย์สลับกัน จึงเรียกว่า คำฉันท์ โดยมีฉันท์ถึง 20 ชนิดด้วยกัน นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะ ลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกดเสมอ
ความรู้เกี่ยวกับ ฉันท์
                ฉันท์ คือลักษณะถ้อยคำ ที่กวีได้ร้อยกรองขึ้น ไห้เกิดความไพเราะ ซาบซึ้ง โดยกำหนดคณะ ครุลหุ และสัมผัสไว้ เป็นมาตรฐาน
ฉันท์นี้ไทยได้ถ่ายแบบมาจากอินเดีย ของเดิมแต่งเป็นภาษาบาลี และสันสกฤต โดยเฉพาะในภาษาบาลี เขามีตำราที่กล่าวถึง วิธีแต่งฉันท์ไว้ เป็นแบบฉบับ เรียกชื่อว่า "คัมภีร์วุตโตทัย" แล้วต่อมาไทยเราได้จำลองแบบ มาแต่งในภาษาไทย โดยเพิ่มเติม บังคับสัมผัสขึ้น เพื่อให้เกิดความไพเราะ ตามแบบนิยมของไทย ซึ่งในภาษาเดิมของเขา หามีไม่
                ฉันท์ในภาษาบาลี แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ฉันท์วรรณพฤติ กับฉันท์มาตราพฤติ
                ฉันท์ใด กำหนดด้วยตัวอักษร คือ วางคณะ และกำหนดเสียงหนักเบา ที่เรียกว่า ครุลหุ เป็นสำคัญ ฉันท์นั้นเรียกว่า วรรณพฤติ
                ฉันท์ใด กำหนดด้วยมาตรา คือ วางจังหวะสั้นยาว ของมาตราเสียง เป็นสำคัญ นับคำลหุเป็น ๑ มาตรา คำครุ นับเป็น ๒ มาตรา ไม่กำหนดตัวอักษร เหมือนอย่างวรรณพฤติ ฉันท์นั้นเรียกว่า มาตราพฤติ
                ฉันท์มีชื่อต่างๆตามที่ปรากฏในคัมภีร์วุตโตทัยมีถึง ๑๐๘ ฉันท์ แต่ไทยเราดัดแปลง เอามาใช้ไม่หมด เลือกเอามาแต่เฉพาะที่เห็นว่าไพเราะ มีทำนองอ่านสละสลวย และเหมาะแก่การที่จะบรรจุคำในภาษาไทยได้ดี เท่านั้น
                ฉันท์ที่นิยมแต่งในภาษาไทย เป็นฉันท์วรรณพฤติเป็นพื้น ที่เป็นมาตราพฤติ ไม่ใคร่จะนิยมแต่ง เพราะจังหวะ และทำนองที่อ่านในภาษาไทย ไม่สู้จะไพเราะ เหมือนฉันท์วรรณพฤติ แม้ฉันท์วรรณพฤติ ที่ท่านแปลงมาเป็นแบบในภาษาไทยแล้ว ก็ไม่นิยมแต่งกันทั้งหมด เท่าที่สังเกตดู ในคำฉันท์เก่าๆ มักนิยมแต่งกันอยู่เพียง ๖ ฉันท์เท่านั้น คือ
                - อินทรวิเชียรฉันท์
                - โตฎกฉันท์
                - วสันตดิลกฉันท์
                - มาลินีฉันท์
                - สัททุลวิกกีฬิตฉันท์
                - สัทธราฉันท์
                แต่ท่านมักแต่งกาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ปนไปกับฉันท์ด้วย และคงเรียกว่า คำฉันท์เหมือนกัน
                เหตุที่โบราณนิยมแต่งเฉพาะ ๖ ฉันท์ คงเป็นเพราะฉันท์ทั้ง ๖ นั้น สามารถจะแต่งเป็นภาษาไทยได้ไพเราะกว่าฉันท์อื่นๆ และท่านมักนิยมเลือกฉันท์ ให้เหมาะกับบทของท้องเรื่อง เป็นตอนๆ เช่น
                บทไหว้ครู นิยมใช้ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ หรือ สัทธราฉันท์
                บทชมหรือบทคร่ำครวญ นิยมใช้ อินทรวิเชียรฉันท์ หรือ วสันตดิลกฉันท์
                บทสำแดงอิทธิฤทธิ์หรืออัศจรรย์ นิยมใช้ โตฎกฉันท์ (แต่คำฉันท์เก่าๆไม่ใคร่นิยมใช้ โตฎกฉันท์)
                บทดำเนินความยาวๆ ในท้องเรื่อง นิยมใช้ กาพย์ฉบัง หรือ กาพย์สุรางคนางค์
               ในปัจจุบันนี้นิยมแต่งภุชงคประยาตฉันท์ เพิ่มขึ้นอีกฉันหนึ่ง และมักใช้แต่ง ในตอนพรรณนาโวหารหรือ ข้อความที่น่าตื่นเต้น
                การแต่งฉันท์ ต้องบรรจุคำให้ครบ ตามจำนวนที่บ่งไว้ จะบรรจุคำให้เกินกว่ากำหนด เหมือนการแต่ง โคลง กลอน และกาพย์ ไม่ได้ เว้นไว้แต่อักษรนำ อนุญาตให้เกินได้บ้าง แต่บัดนี้ ไม่ใคร่นิยมแล้ว คำใดที่กำหนดไว้ว่า เป็นครุและลหุ จะต้องเป็น ครุและลหุจริงๆ และเป็นได้ แต่เฉพาะ ตรงที่บ่งไว้ เท่านั้น จะใช้ครุและลหุ ผิดที่ไม่ได้ คำ บ ก็ดี คำที่ประสมด้วย สระอำ ในแม่ ก กา ก็ดี ใช้เป็นลหุได้ แต่บัดนี้คำที่ประสมด้วยสระอำ ไม่ใคร่นิยมใช้ เพราะถือว่า เป็นเสียงที่มีตัวสะกดแฝงอยู่ด้วย

ประวัติผู้แต่ง





นายชิต  บุรทัต  เกิดเมื่อวันที่ ๖ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๓๕  เป็นบุตรนายชู  นางปริก  ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากบิดาซึ่งเป็นเปรียญ ๕ ประโยค  และได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นแห่งแรก  แล้วย้ายมาเรียนต่อจนสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ที่โรงเรียนวัดสุทัศน์  ขณะนั้นอายุได้ ๑๕ ปี  บิดาจึงจัดการให้บวชเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นอุปัชฌาจารย์  นายชิต บุรทัต  เป็นผู้รักรู้ รักเรียน มีความรู้ในภาษาบาลีและฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้  นายชิตเริ่มการประพันธ์เมื่ออายุ ๑๘ ปี  ขณะนั้นได้กลับมาบวชเป็นสามเณรอีกเป็นครั้งที่สอง    วัดเทพศิรินทราวาสและได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  จึงได้อุปสมบทที่วัดนี้  ในฐานะเป็นศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระวชิรญาณวโรรส  สามเณรชิตได้สร้างงานประพันธ์โดยใช้นามปากกาเป็นครั้งแรกว่า “เอกชน” จนเจริญรุ่งโรจน์ขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ในขณะที่สามเณรชิตมีอายุเพียง ๑๘ ปี  ก็ได้รับอาราธนาจากองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔  ด้วยผู้หนึ่ง  ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๕๘ นายชิต บุรทัตซึ่งอยู่ในเพศฆราวาสแล้วได้ส่งบทประพันธ์กาพย์ปลุกใจลงในหนังสือพิมพ์ สมุทรสารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรต้นฉบับเดิม พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าหน้าที่ขอถ่าถภาพเจ้าของบทกาพย์ปลุกใจลงพิมพ์ประกอบด้วย


นายชิตใช้นามสกุลเดิมว่า  ชวางกูร  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า บุรทัตและในปีเดียวกันนั้นเองนายชิต บุรทัตได้สมรสกับจั่น  แต่หามีบุตรธิดาด้วยกันไม่  นามปากกาของชิต บุรทัต คือ เจ้าเงาะ”“เอกชน” “แมวคราวใช้ในการประพันธ์บทความต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เสมอมาจนตลอดอายุ
นายชิต  บุรทัตถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๕ ด้วยโรคลำไส้พิการ ณ บ้านถนนวิสุทธิกษัตริย์  รวมอายุได้ ๕๐ ปี  สำนักงานสุดท้ายที่ประจำอยู่คือหนังสือพิมพ์เอกชน

ผลงานของนายชิต  บุรทัต

งานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทคำฉันท์  มีทั้งที่แต่งขึ้นด้วยจินตนาการของความเป็นกวี    ชมธรรมชาติ คติสอนใจ บทสดุดีเฉลิมพระเกียรติและวรรณคดีเรื่องยาวเกี่ยวกับชาดก เช่น กำเนิดแห่งสตรีคำโคลงความรักของแม่ ฉันท์เฉลิมพระเกียรติงานพระเมรุทองท้องสนามหลวง กรุงเทพฯคำฉันท์ ตาโป๋คำฉันท์  คติของพวกเราชาวไทย  อุปมาธรรมชาติ  ข้าพเจ้านั่งอยู่ชายทะเล  นิราศนครราชสีมา  ชีวิตเราเปรียบด้วยนกบิน  ลิลิตพระเจ้ากรุงธนบุรี  กกุฎวานิชคำโคลง  เวทัพพชาดกคำฉันท์  และสามัคคีเภทคำฉันท์  เป็นต้น
นับว่านายชิต  บุรทัตเป็นกวีเอกที่มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์คนหนึ่ง  ใช้เวลาทั้งหมดของชีวิตด้วยการแต่งบทกวีต่าง ๆ นานาชนิดจนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกวีคนใดในสมัยเดียวกันจะทำงานในเชิงกวีนิพนธ์ได้มากและมีชื่อเสียงแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทยได้เท่ากวีเอกผู้นี้ในสมัยนั้น  โดยเฉพาะงานชิ้นเอกของท่าน คือ สามัคคีเภทคำฉันท์  มีฉันท์อยู่ถึง ๑๙ ชนิด  มีลีลาในการแต่งที่ไม่อาจมีกวีใดเทียบได้  ทั้งการเลือกใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหารอย่างไพเราะ  ขณะเดียวกันก็เคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ของคำประพันธ์  นับว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าในวรรณคดีนิพนธ์  สามารถใช้เป็นแบบอย่างแห่งการแต่งฉันท์ได้เป็นอย่างดี

สามัคคีเภทคำฉันท์




สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิยายคำฉันท์ขนาดสั้นไม่กี่สิบหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงดงามทางวรรณศิลป์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยด้วย             

หนังสือ สามัคคีเภทคำฉันท์ (ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ เขียนเว้นวรรค เป็น "สามัคคีเภท คำฉันท์") นี้ นายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของกวีผู้นี้




          สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี โดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ทรงมีอำมาตย์คนสนิทชื่อ วัสสการพราหมณ์ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและปกครองกันด้วยความสามัคคี             

พระเจ้าอชาตศัตรูปรึกษากับวัสสการพราหมณ์เพื่อหาอุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยการแสร้งเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ เดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วทำอุบายจนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี และในที่สุดได้เป็นครูสอนภาษาและศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายให้ศิษย์แตกร้าวกัน จากความแตกร้าวของเหล่ากุมาร จึงมีการไปฟ้องร้องบิดาของตนซึ่งเป็นกษัตริย์ จึงเกิดการแตกร้าวระหว่างกษัตริย์ไปด้วย จนเกิดการวิวาท และเป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี สามารถปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย โดยวัสสการพราหมณ์เป็นผู้มาเปิดประตูเมืองให้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู